หลังจากประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์ในปีที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนหลายล้านคน จนหน่วยงานต่าง ๆ ต้องแข่งกันออกมาตรการช่วยเหลือสารพัดโครงการเพื่อบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย ทั้งที่เป็นครัวเรือน, ลูกจ้าง หรือแม้แต่ เจ้าสัวโรงงาน แบบไม่อั้น
ไม่ว่าจะเป็นมาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยถูก ๆ วงเงินหลายแสนล้านบาท, การลดภาษีต่าง ๆ เพื่อมัดใจนักลงทุนไม่ให้เผ่นไปจากเมืองไทย, การจ่ายเงินชดเชยบ้านที่ถูกน้ำท่วม แม้กระทั่งการขายสินค้าราคาถูกหรือนำคูปองส่วนลดไปซื้อสินค้า เป็นต้น
อย่างน้อยผู้ที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากน้ำท่วมก็มีโอกาสที่จะคลายความทุกข์ได้ระดับหนึ่ง หลายโครงการประชาชนชื่นชมรัฐบาลที่ให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว แต่มีบางโครงการที่แจกจ่ายแล้วกลับถูกชาวบ้านด่า สุดท้ายเรื่องบานปลายจนต้องออกมาปิดถนนประท้วงทั้งที่เป็นของฟรี
หลายคนคงงง...ว่าทำไมได้ของฟรีแล้ว แต่ต้องมาด่ารัฐบาลซะงั้น! แทนที่จะยกมือไหว้ขอบคุณ...เพราะหากพูดกันตรง ๆ คือคนไทยส่วนใหญ่ชอบอยู่แล้วกับของฟรีหรือของลดราคา แต่กรณีของโครงการ “มหกรรมสินค้าเบอร์ 5 ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในการแจกคูปองส่วนลด 2,000 บาทซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 ของกระทรวงพลังงาน” มาแปลก ทั้ง ๆ ที่เจตนาผู้ให้ดีแต่กลับสร้างเรื่องราวโกลาหลจนได้
ทั้งนี้เงื่อนไขของโครงการก็คือให้ครัวเรือนที่ประสบภัยน้ำท่วม 27 จังหวัดไปรับคูปองได้ที่ศาลากลางหรือที่กระทรวงพลังงานตั้งโต๊ะ แล้วนำคูปองไปซื้อทีวี พัดลม หลอดไฟ, เตาแก๊ส, ไมโครเวฟ, เครื่องปรับอากาศ, กระติกน้ำร้อน เป็นต้น ได้ในราคาส่วนลด 20% ของราคาสินค้าและมูลค่าส่วนลดรวมกันไม่เกิน 2,000 บาทต่อครัวเรือน โดยรัฐบาลยอมควักเนื้อจากกระเป๋ากองทุนเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานวงเงิน 2,000 ล้านบาทในการอุดหนุนส่วนที่ลดราคาแก่ร้านค้า
หากรัฐบาล “ทักษิณส่วนหน้า” โฆษณาแจกแจงให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นบัตรส่วนลด 20% สำหรับการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 ที่เข้าร่วมโครงการ เชื่อว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นคงไม่วุ่นวายขนาดนี้...แต่เป็นเพราะว่ารัฐบาลมุ่งเน้นใช้กลยุทธ์เชิงการตลาดกับชาวบ้านมากเกินไปจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกิดขึ้น
เริ่มแรกเมื่อเห็นแบบคูปองที่ได้รับแล้วชาวบ้านทั่วไปคงตาลุกวาว เพราะแบ่งเป็นคูปองมูลค่า 100 บาท และ 500 บาท รวมกัน 2,000 บาท เหมือนกับคูปองอาหารไม่มีผิด เพราะหน้าคูปองไม่พบว่ามีเงื่อนไขให้ใช้เป็นส่วนลด 20% แต่ประการใด
ชาวบ้านหลายคนที่ได้รับก็ดีใจเข้าใจว่ารัฐบาลจะให้เงิน 2,000 บาทที่เป็นรูปคูปองเหมือนกับ ’โครงการเช็คช่วยชาติ“ ในสมัยรัฐบาล ’นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ“ ที่สามารถใช้เช็คแทนเงินสดได้ทันที จนหลาย ๆ หมู่บ้านได้รวมตัวกันเหมารถยนต์ไปรับคูปองแล้วไปซื้อสินค้ากันอย่างสนุกสนาน
สุดท้ายหลายราย...ต้องผิดหวัง...เพราะคูปองใช้ประโยชน์ได้ไม่มากอย่างที่คิด เช่น ต้องซื้อสินค้าถึง 10,000 บาทก่อนจึงจะได้ส่วนลด 2,000 บาท เช่น ต้องซื้อเครื่องปรับอากาศ,ทีวี และตู้เย็น อย่างดีมีสกุล แต่หากซื้อพัดลมลดได้ 200-300 บาท หม้อหุงข้าว ลดได้ 200 บาท เตาแก๊สลดได้ 500-800 บาท เป็นต้น หากรายใดที่ไม่นำเงินติดตัวไปเลยกะจะใช้คูปองซื้อสินค้าก็ต้องกลับบ้านมือเปล่า
จนหลายคนคิดว่ารู้อย่างนี้ไม่ต้องไปเข้าแถวรอรับคูปองให้เสียเวลา...ในที่สุดทำให้ชาวบ้านจำนวนมากไม่พอใจเกิดการปิดถนนประท้วงจนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่สัญจรไปมา โดยเฉพาะในส่วนของ จ.สมุทรสาคร ที่รวมตัวกันปิดถนนพระราม 2 บริเวณทางแยกต่างระดับสมุทรสาคร
ขณะที่ชาวบ้านใน จ.พระนครศรีอยุธยารวมตัวกันปิดถนนสายเอเซีย บริเวณทางแยกต่างระดับอยุธยา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหากรณีการใช้คูปองส่วนลด 2,000 บาท เพราะบางคนใช้คูปองซื้อสินค้าไม่ได้ตามที่ต้องการ หรือหากต้องการใช้คูปอง ต้องซื้อสินค้าชนิดนั้นในราคา 10,000 บาทขึ้นไปจึงจะได้ส่วนลดเต็มมูลค่าของคูปอง ผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้นำคูปองไปแลกเงินสดเแทน
“จนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นโครงการแจกคูปองที่แหกตาชาวบ้านหรือไม่เพราะคนอีกจำนวนมากเข้าใจว่าได้เงิน 2,000 บาทแบบฟรี หรือว่าเป็นโครงการที่ถลุงงบประมาณที่ไม่คุ้มค่ากับการควักกระเป๋าจากกองทุนอนุรักษ์ ที่อุตส่าห์เก็บสะสมมาจากผู้ใช้น้ำมันลิตรละ 1 สลึง รวม ๆ กันหลายหมื่นล้านบาทจนใครเห็นแล้วต้องตาลุกวาวแน่ หากนำ ไปให้รัฐบาลกู้ดอกเบี้ยถูก ๆ สร้างรถไฟฟ้าก็ยังดีกว่าแทนที่จะมาแจกคูปองส่วนลด และที่สำคัญโครงการนี้เร่งรีบทำเกินไปจนข้าราชการตั้งตัวไม่ทัน และเกิดคำถามว่ามีความโปร่งใสหรือไม่”
แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงพลังงานยอมรับสภาพว่าโครงการคูปอง 2,000 บาท มีคนมายื่นขอรับคูปองส่วนลดน้อยกว่าที่คาดไว้เพียง 200,000 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 20% ของเป้าหมาย
พร้อมทั้งให้เหตุผลสาเหตุที่คนมาใช้น้อยและคนเข้าใจผิดคงมาจากประชาสัมพันธ์ได้ไม่ทั่วถึง และเป็นช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ประชาชนไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก
แต่ทั้งหมดทั้งปวงยังมีคำถามที่คาใจชาวบ้านหลาย ๆ คนว่า “เป็นไปได้หรือที่โครงการนี้จะอ่อนประชาสัมพันธ์” เพราะมีกระแสข่าวเกิดขึ้นว่าการดำเนินการให้เกิดโครงการนี้ขึ้น ได้ใช้เงินงบประมาณในการประชาสัมพันธ์และจัดงานรวมกันก็ปาเข้าไประดับ 100 ล้านบาท ที่สำคัญยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่เข้ามารับเป็นที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์โดยเฉพาะ จึงไม่น่าจะเกิดการอลวนอลเวงเกิดขึ้น จนทำให้ชาวบ้านต้องเดือดเนื้อร้อนใจขึ้นไปอีก
ดูอย่าง “ประภาส พึ่งพรหม” พนักงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ระบุว่าแม้จะเป็นคนที่ติดตามข่าวและรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการลด 20% ของคูปอง แต่ยอมรับว่าการใช้คูปองมีเงื่อนไขเยอะแยะ เพราะมีการบังคับให้ซื้อเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 และที่สำคัญก็ไปหาร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการยาก ทำให้ต้องไปหาร้านค้าที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าแทน จึงต้องการนำเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนเงื่อนไขต่าง ๆ ให้กับสถานการณ์ของชาวบ้านมากกว่านี้ เช่น น่าจะเป็นลักษณะเช็คเงินสดและให้ประชาชนที่เดือดร้อนสามารถซื้ออะไรก็ได้ที่จำเป็นเพราะส่วนใหญ่เป็นคนจน ไม่ต้องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่ม เพราะเพิ่มภาระอีก
หรือแม้แต่ นาย ก (นามสมมุติ) และเป็น ชาวนาใน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นผู้ที่ร่วมประท้วงในการปิดถนนรายหนึ่ง แสดงความไม่พอใจและเล่าว่าตนเองนั้นแก่แล้ว เดินทางมารับคูปองต้องรอทั้งวันและนำคูปองไปแลกสินค้าในอำเภอเมืองอยุธยาทุกร้านที่เข้าร่วมโครงการต่างก็บอกส่วนลดให้ 20% เช่น ซื้อตู้เย็น 8,000 บาทลด 1,600 บาทต้องจ่ายเงินสด 6,400 บาท หรือแม้แต่พัดลมตัวละ 1,000 บาทลด 200 บาทต้องจ่ายอีก 800 บาท แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อ
ดังนั้นจึงอยากได้เป็นเงินสดจะดีกว่าไปซื้อข้าวของจำเป็น อย่าง กะปิ น้ำปลาเก็บไว้กินได้นาน
ขณะที่ “แม่ค้าตลาดมหาชัย ใน จ.สมุทรสาคร” รายหนึ่งบอกว่า คูปองนี้ทางชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติทุกคน คงต้องการให้เป็นคูปองเงินสด ไม่ใช่คูปองส่วนลด และเมื่อกระทรวงพลังงานได้สร้างความเข้าใจผิดแก่ชาวบ้านต้องเสียเวลา ต่อคิวยาวเป็นกิโลเมตรสุดท้ายก็ได้แค่คูปองส่วนลด ดังนั้นเมื่อกระทรวงพลังงานทำออกมาไม่รอบคอบ ก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ จะมาโทษว่าชาวบ้านไม่เข้าใจวิธีการใช้คูปองไม่ได้ เพราะในคูปองไม่ได้ระบุว่าเป็นคูปองส่วนลด ใครที่ได้รับไปก็ต้องคิดว่าเป็นคูปองเงินสด ซื้อของได้เต็มราคา 2,000 บาท ทั้งนั้น
อย่างไรก็ตามเมื่อปัญหายังคงฉาวโฉ่ สุดท้ายก็โยนให้ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการต่อโดยไม่สนใจกระแสให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสแถมยังเดินหน้าที่จะปรับหลักเกณฑ์ให้ประชาชนรับคูปองได้ง่ายเพื่อใช้เงินกองทุนฯ ที่กันไว้ 2,000 ล้านบาทให้หมด
โดยคราวนี้จะแจกให้ครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมและยังไม่ได้ใช้สิทธิอีก 770,000 ครัวเรือนในระหว่างวันที่ 10-20 ก.พ. 55 พร้อมทั้งเพิ่มร้านค้าให้มากกว่าเดิม และประชาชนสามารถไปรับคูปองได้ตามที่สำนักงานเขตหากอยู่ในกทม. รวมถึงที่ว่าการอำเภอในจังหวัดที่เหลือ จากเดิมที่แจกตามศาลากลางจังหวัด และจะขยายเวลาการใช้คูปองไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค. 55
เป็นโอกาสของรัฐบาลแล้วที่จะได้แก้ตัวในการคลายทุกข์ความเดือดร้อนของชาวบ้านจากน้ำท่วม หลังจากบริหารจัดการน้ำผิดพลาดจนเกิดความเสียหายครั้งใหญ่หลวงมาแล้ว แต่หากมาตรการช่วยเหลือยังเป็นแบบถลุงงบฯ เล่น ๆ ไปวัน ๆ เหมือนกรณีถุงยังชีพ ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นจากประชาชนค่อย ๆ ลดลงทีละนิด จนหมดความศรัทธาก็ได้.
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น