วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ยาเสพติดคืออะไร?? อยากให้ทุกคนได้อ่าน

ตัวยา 
          สารที่ปรากฏในธรรมชาติก็ดี หรือที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นก็ดี บางอย่างจะมีคุณสมบัติที่ทำให้ผู้ที่ใช้แล้วไม่ประสงค์ไปใช้อีก  และบางอย่างก็ทำให้ผู้ใช้รู้สึกเฉยๆ ใช้ก็ได้ไม่ใช้ก็ได้ แต่ก็มีสารบางอย่างที่มีฤทธิ์ทำให้ผู้ใช้ชอบกลับไปใช้อีก หรือใช้บ่อยๆ จนติดได้ตัวยาจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในปัญหายาเสพติด

          ๑. ประเภทของยาเสพติด

          ในบรรดาสารหรือยาที่ทำให้ปัญหาการติดยานั้น องค์การอนามัยโลกได้จัดแยกไว้เป็น ๙ ประเภท  คือ
          ๑.๑  แอลกอฮอล์ (alcohol) ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในเครื่องดื่มบางชนิด เช่น เหล้า เบียร์
          ๑.๒  แอมเฟตามีน (amphetamine) เป็นสารสังเคราะห์ รวมทั้งสารที่มีโครงสร้าง และฤทธิ์แบบเดียวกัน
          ๑.๓  บาร์บิทูเรต (barbiturate) และยานอนหลับต่างๆ
          ๑.๔  กัญชา รวมทั้งผลผลิตจากต้นกัญชาในรูปแบบต่างๆ
          ๑.๕  โคเคน (cocaine) และใบโคคา (coca)
          ๑.๖  ยาหลอนประสาท มีอยู่หลายชนิด เช่น แอลเอสดี (LSD)
          ๑.๗  แคต (khat) เป็นพืชที่ใช้เป็นยาเสพติดอยู่ในทวีปแอฟริกา
          ๑.๘  ฝิ่น และอนุพันธ์ของฝิ่น รวมทั้งสารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติอย่างเดียวกัน
          ๑.๙  น้ำมันระเหย  ได้แก่  น้ำมันเบนซิน น้ำมันผสมสี  อะซีโทน (acetone) และยาสลบบางชนิดในรายการขององค์การอนามัยโลกไม่มีพืชกระท่อม  ซึ่งเป็นพืชเสพติดตามกฎหมายไทยด้วย

          ๒. ฤทธิ์ของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและยาเสพติด

          วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่มีผลทำให้ผู้ใช้ติดยาได้นั้น มีผลต่อจิตใจในแบบต่างๆ ได้ ๕ แบบ คือ
          ๒.๑ การบรรเทาความเจ็บปวด ซึ่งอาจเป็นจากโรคทางกาย โรคทางจิต หรือการปวดเมื่อยตามตัวจากการทำงานหนัก ยาหลายอย่างที่มีฝิ่นหรืออนุพันธ์ของฝิ่นเป็นส่วนประกอบมีฤทธิ์แบบนี้
          ๒.๒ การลดความตึงเครียด ความกระวนกระวายใจ ความหงุดหงิด ความตื่นเต้น  ตลอดจนการนอนไม่หลับ ยาที่กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น แอลกอฮอล์  ฝิ่น  มอร์ฟีน เฮโรอีน ยานอนหลับ และยากล่อมประสาท ออกฤทธิ์แบบนี้
          ๒.๓ การกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางเพื่อลดความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย การง่วงเหงาหาวนอน การอ่อนเพลีย  การซึมเศร้าและขาดพละกำลัง สารที่ออกฤทธิ์แบบนี้  ได้แก่  กาเฟอีน  (cafeine, สารที่มีในกาแฟ และชา) แอมเฟตามีน โคเคน และใบกระท่อม
          ๒.๔  การมึนเมา ซึ่งหมายถึงภาวะที่การรับความรู้สึกจากสิ่งแวดล้อม และความนึกคิดผันแปรไปไม่ชัดเจนหรือดีเท่าปกติ   ความทุกข์ทรมาน  หรือความวิตกกังวลค่อยมึนชาไปหรือลืมไปได้ ความกดดัน ความยับยั้งชั่งใจ หรือความอัดอั้นก็คลายออกไปได้ อาจเกิดความรู้สึกครึ้มใจ และหมดกังวลมาแทน อาจมีอาการทางกายเกิดร่วมด้วย  เช่น เวียนศีรษะ เสียการทรงตัวและคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย  สารที่ออกฤทธิ์แบบนี้  ได้แก่  แอลกอฮอล์ บาร์บิทูเรต กัญชา น้ำมันระเหยต่างๆ
เป็นต้น
          ๒.๕  ประสาทหลอน  ซึ่งหมายถึงภาวะที่การรับความรู้สึกต่างๆ ผิดแปรไปจากปกติ สิ่งที่เห็นได้ยิน สัมผัส หรือรู้สึกด้วยวิธีใดก็ตาม จะรับรู้ผิดไปจากปกติและแปลผลผิดจากปกติด้วย อาจมีความรู้สึกเกิดขึ้นโดยไม่มีสิ่งนั้นจริงๆก็ได้ ผู้ที่ใช้ยาอาจมีอาการมึนเมา สนุกสนาน ครึกครื้น หรืออาจถึงคลุ้มคลั่งก็ได้ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ใช้ยารู้สึกว่า ไม่ได้อยู่ในโลกของ
ความจริง แต่อยู่ในโลกของความฝัน จึงเป็นทางหนีจากความทุกข์ทรมาน และความกดดันต่างๆได้เช่นเดียวกับการมึนเมา กัญชา และสารสังเคราะห์ เช่น แอลเอสดีมีฤทธิ์แบบนี้
          ยาเสพติดแต่ละชนิด  อาจมีฤทธิ์หลายแบบปนกัน หรือมีฤทธิ์แตกต่างกัน แล้วแต่ขนาดของยาและวิธีใช้  ตัวอย่างเช่น แอลกอฮอล์ขนาดน้อยอาจมีฤทธิ์กระตุ้น เมื่อขนาดมากขึ้นก็มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา และในขนาดมากเต็มที่ อาจกดระบบประสาทจนไม่รู้สึกตัวไปเลยก็ได้  ฝิ่นที่ผสมเป็นยาหรือละลายน้ำกินทางปาก มีฤทธิ์ในการแก้ท้องเดินและแก้ไอได้ดี และมีฤทธิ์ในการบรรเทาความเจ็บปวดได้ปานกลาง แต่ถ้าสูบ ซึ่งหมายถึงการเผาให้เป็นควัน แล้วสูดหายใจเอาควันเข้าไปจะมี
ผลเร็ว ระงับความเจ็บปวดได้มาก และลดความตึงเครียดตลอดจนเกิดความรู้สึกสบายใจได้โดยเร็ว เฮโรอีนมีฤทธิ์คล้ายคลึงกับฝิ่นเวลาสูบ แต่ถ้าฉีดเข้าหลอดเลือดยิ่งได้ผลเร็วขึ้นอีก มีความมึนเมาเกิดขึ้นในทันที

          ๓. กลไกของการเสพติด

          การเสพติดประกอบด้วยลักษณะ ๓ ประการ คือ
          ๓.๑ การที่ร่างกายขึ้นกับยา หรือการติดยาทางกาย เมื่อได้รับยาเสพติดเข้าไปในร่างกายแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกายส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมอง เพื่อให้เกิดสมดุลใหม่ที่มียาอยู่ด้วยเป็นประจำ หากยานั้นขาดหายไปหรือลดปริมาณลง ก็จะเกิดการเสียสมดุลในร่างกายทำให้มีอาการผิดปกติขึ้นที่เรียกว่า อาการถอนยา
          ยาประเภทฝิ่น  มอร์ฟีน  และเฮโรอีน มีสภาพที่ร่างกายขึ้นกับยาค่อนข้างรุนแรง เพราะในสมองมีสารหลายอย่างที่มีฤทธิ์แบบเดียวกันกับมอร์ฟีน เรียกว่า เอนเคฟาลิน  (encephalin) และเอนดอร์ฟิน (endorphin) คล้ายกับว่ามีมอร์ฟีนอยู่ในสมองตามธรรมชาติแล้ว เมื่อร่างกายได้รับมอร์ฟีนเข้าไป  ซึ่งจะได้จากการกินหรือสูบฝิ่นหรือการฉีดมอร์ฟีนหรือเฮโรอีนก็ตาม   จะทำให้สมดุลของเอนเคฟาลินและเอนดอร์ฟินในสมองเปลี่ยนไปเป็นสภาพที่ต้องได้รับมอร์ฟีนจากภายนอกเข้าไปตลอดเวลาเมื่อมอร์ฟีนจากภายนอกขาดไปจากการไม่ได้สูบฝิ่นหรือฉีดมอร์ฟีน หรือเฮโรอีน ก็จะเกิดกลุ่มอาการถอนยาที่ เรียกว่า  ลงแดง กลุ่มอาการนี้ ได้แก่ อาการปวดตามตัวกระวนกระวาย  ขนลุก น้ำมูกน้ำตาไหล หาว นอนไม่หลับกล้ามเนื้อกระตุกและเป็นตะคริว   และท้องเดินในบางรายที่เป็นมากอาจดิ้นทุรนทุราย  ลักษณะอาการนี้เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติถูกกระตุ้นอย่างแรงกลุ่มอาการมีส่วนคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดรุนแรง  อาการดังกล่าวนี้จะเป็นมากอยู่เพียง  ๓-๕  วัน  แล้วค่อยๆสงบลงไปเองในเวลา ๑-๒ สัปดาห์ แต่ยังอาจมีอาการเพลียนอนไม่หลับ และหงุดหงิดไปอีกเป็นเวลาหลายเดือน
          สำหรับยานอนหลับ เช่น บาร์บิทูเรต และเมทาควาโลน (methaqualone) ก็มีอาการถอนยาที่อาจรุนแรงได้  เพราะยานี้มีฤทธิ์ในการกดระบบประสาทกลาง เมื่อใช้ไปนานๆ แล้วหยุดทันที ทำให้การกดหายไปทันที ก็มีอาการแบบเดียวกับระบบประสาทกลางถูกกระตุ้น คือ มีอาการกระวนกระวาย นอนไม่หลับ อาจมีอาการชัก ไข้สูง และไม่รู้สึกตัวไป เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
          คนที่ติดเหล้า หากไม่ได้รับเหล้าเข้าไปก็มีอาการถอนยา คือ มือสั่น เดินโซเซ กระวนกระวายและถ้าเป็นมากอาจคลุ้มคลั่งได้
          ๓.๒ การที่จิตใจขึ้นกับยา หรือการติดยาทางจิต ผู้ที่เคยประสบกับฤทธิ์ของยาแล้วติดใจหรือพอใจจะได้ฤทธิของยานั้นอีก ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกสบายใจหรือสนุกสนาน หรือความรู้สึกเมา ลืมความทุกข์โศกและหลุดพ้นจากโลกของความเป็นจริง ไปสู่โลกของความฝัน  ในบางรายอาจมีจิตใจขึ้นกับยา  เนื่องจากกลัวอาการถอนยา หรือกลัวความจริงที่จะพบในโลกที่ไม่ใช้ยา
          ยาเสพติดทุกชนิดจะมีการที่จิตใจขึ้นกับยาดังกล่าวมานี้ สภาพการติดยาเป็นบุคลิกภาพที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากการใช้ยาจนติด  ผู้ติดยาจะรู้สึกมีแรงผลักดันหรืออำนาจบางอย่างบังคับให้ไปใช้ยา โดยตนเองไม่สามารถระงับยับยั้งไว้ได้ เปรียบได้กับผู้ติดสิ่งอื่นๆ เช่น เหล้า บุหรี่ การพนัน ไพ่ หรือม้าแข่ง  เป็นต้น เมื่อถึงกำหนดแล้ว ก็รู้สึกกระวนกระวายอยู่ไม่เป็นสุขบางคนก็กระทำไปโดยตนเองคล้ายกับไม่รู้สึกตัว การกระทำนั้น ก็อาจมีแรงผลักดันให้กระทำไปในรูปที่ผิดปกติเหลือวิสัยที่คนปกติจะกระทำ เช่น การพนัน ยอมเสียทุกอย่างโดยไม่ยั้งคิด ผู้ติดยาเสพติดที่รุนแรงอาจกระทำในสิ่งที่ผิดทำนองคลองธรรม หรือผิดกฎหมายก็ได้ เพื่อสนองความอยากของตน
          กระบวนการติดยานี้ บางคนเชื่อว่าเป็นกระบวนการสร้างบุคลิกภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์และสัตว์ในสถานการณ์อย่างหนึ่งต้องกระทำอย่างหนึ่งจึงจะได้รับรางวัล หากได้รับรางวัลจนเคยชิน ก็จะเกิดแรงกระตุ้นให้กระทำสิ่งนั้นๆเพื่อรับรางวัลอยู่เสมอ
          อีกประการหนึ่งผู้ที่ใช้ยาเสพติด อาศัยฤทธิ์ของยาในการหนีจากปัญหาที่ต้องเผชิญ และเป็นวิธีการที่ง่ายกว่าการแก้ปัญหาแบบอื่น หากกระทำหลายๆครั้งบุคลิกภาพก็เปลี่ยนไป เมื่อเกิดปัญหา ก็มีแนวโน้มที่จะหาทางออกด้วยการใช้ยาเสพติด
          ในการบำบัดรักษา  ผู้ที่ติดยาเสพติดเมื่อแก้ไขสภาพที่ร่างกายขึ้นกับยาได้แล้ว สภาพที่จิตใจขึ้นกับยายังคงอยู่ไปอีกนาน  ทำให้ผู้นั้นกลับไปใช้ยาอีก บางคนอาจมีสภาพจิตใจขึ้นกับยาไปตลอดชีวิตก็ได้ การที่จิตใจขึ้นกับยา จึงเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยากและต้องใช้เวลานาน การรักษาระยะนี้อาจเรียกว่า การฟื้นฟูสภาพจิตแต่ความจริงแล้ว   อาจจำเป็นต้องสร้างสภาพจิตหรือบุคลิกภาพขึ้นใหม่ทั้งหมด เพราะเยาวชนที่ติดยาไม่เคยมีสภาพจิตปกติที่เคยสร้างไว้เลยก็ได้
          ๓.๓ การด้านยา หมายถึง การที่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดของยาขึ้น ภายหลังจากใช้ยาไปหลายครั้งจึงจะได้ผลจากฤทธิ์ของยาอย่างเดิม
          ผู้ที่ติดยาเสพติด เมื่อใช้ยาไปเรื่อยๆ ในขนาดเดิม ผลของยาจะลดลงไม่รู้สึกแรงเท่าเดิม จึงจำเป็นต้องเพิ่มขนาดของยาขึ้นเรื่อยๆ บางคนอาจใช้ยาขนาดมากกว่า ๑๐ เท่าของขนาดปกติก็ได้ ซึ่งถ้าใช้เป็นครั้งแรกเมื่อยังไม่ด้านยา อาจเกิดเป็นพิษถึงกับไม่รู้สึกตัวไปก็ได้
          ผู้ที่ใช้ยาเสพติดจากตลาดมืดผิดกฎหมายย่อมไม่ทราบว่ายาที่ได้นั้นบริสุทธิ์ หรือแรงเพียงใดและความด้านยาของตนเองมากน้อยเพียงใด หากขาดยาไประยะหนึ่ง  ความด้านยาอาจลดลงไป แล้วถ้าบังเอิญไปได้รับยาที่มีความเข้มข้นสูง ก็อาจได้รับยาเกินขนาดเข้าไปและเป็นอันตรายได้ นับว่าเป็นอันตรายที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับผู้ติดยาเสพติด  โดยเฉพาะเฮโรอีนที่ต้องแอบซื้อขาย
          การด้านยา  ยังเป็นสาเหตุให้ผู้ที่ติดยาต้องใช้ยาขนาดมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการซื้อยาก็ย่อมสูงขึ้นเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น และผู้ติดยากจนลงเรื่อย จนในที่สุดอาจเกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา
[กลับหัวข้อหลัก]

การสูบฝิ่นในโรงยา ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว

[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]
บุคคลและการใช้ยา 
          หากพิจารณาในแง่บุคคลที่สัมพันธ์กับยาเสพติดแล้วจะเห็นว่า ในสภาพแวดล้อมที่มียาอยู่หรือหายาได้ง่ายนั้น จะมีบุคคลที่มีประสบการณ์การใช้ยาแตกต่างกันได้มาก พอจะจำแนกได้ดังนี้

          ๑. ผู้ที่ไม่ใช้เลย

          บุคคลเหล่านี้สามารถรักษาตนเองได้ ไม่สนใจที่จะไปลองหรือใช้ยา เปรียบได้กับผู้ที่ได้รับเชื้อโรคแล้วไม่เป็นโรค นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันดี

          ๒. ผู้ลองใช้ยา

          บุคคลเหลานี้ชอบลอง แต่ใช้ไปครั้งเดียว หรือไม่กี่ครั้งแล้วก็เลิกได้

          ๓. ผู้ใช้ยาเป็นครั้งคราว

          บุคคลเหล่านี้ชอบใช้ยา  และมีโอกาสหรือสภาพแวดล้อมชักจูงให้ไปใช้ยาเป็นระยะๆ แต่เว้นระยะห่างจนยังไม่เกิดสภาพติดยา มักจะเป็นการใช้ยาเพื่อเข้าในสังคม หรือหมู่เพื่อนฝูงที่ชอบใช้ด้วยกัน

          ๔. ผู้ใช้ยาเป็นประจำหรือผู้ที่ติดยา

          บุคคลเหล่านี้ใช้ยาเป็นประจำ  จนมีสภาพของการติดยา คือ มีอาการร่างกายหรือจิตใจขึ้นกับยาและอาการด้านยา  บุคคลประเภทนี้มีบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มที่จะติดยาได้ง่าย หรือพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า ขาดภูมิคุ้มกันต่ออาการติดยา

          ในหมู่บ้านชาวไทยภูเขา  ซึ่งมีการปลูกและซื้อขายฝิ่นนั้น มีผู้ที่ติดฝิ่นอยู่ระหว่างร้อยละ ๖ ถึงร้อยละ ๓๘ โดยมีสาเหตุการใช้แบ่งได้เป็น ๓ ประการ  ประการแรกเป็นการใช้ฝิ่นเป็นยารักษาโรคทางกาย เช่น เพื่อระงับอาการเจ็บปวด อาการไข้ อาการท้องเดินและอาการไอ สำหรับโรคที่เป็นในระยะเวลาสั้น  ก็ใช้ฝิ่นเพียงครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้งแล้วก็หยุด  เพราะโรคหายไปแล้ว แต่โรคที่เป็นเรื้อรัง เช่น แผลในกระเพาะอาหารวัณโรคของปอด โรคไตเรื้อรังและบาดเจ็บต่างๆ อาการเป็นอยู่นาน และต้องสูบฝิ่นเพื่อรักษาหลายครั้งจนมีผลให้ติดยาและเลิกไม่ได้เป็นเวลาอีก ๒๐-๓๐ ปีต่อมาก็มี ประการที่ ๒ เป็นการใช้ฝิ่นเพื่อให้ได้ฤทธิ์ด้านจิตประสาทในการกดประสาทกลางทำให้เกิดความมึนเมา และระงับความกดดัน หรือความทุกข์ทรมานด้านจิตใจ นับเป็นการหนีจากปัญหาต่างๆที่ประสบ ซึ่งอาจเป็นปัญหาส่วนบุคคล เช่น การสูญเสียบุตร ภรรยา ผู้เป็นที่รักไป หรือการสูญเสียพืชผล สัตว์เลี้ยง เป็นต้น หรือเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจจากความยากจน และความหมดหวังในชีวิตส่วนประการที่ ๓  เป็นการใช้ฝิ่นเพื่อความรื่นเริง ทั้งที่เป็นการเข้ากลุ่มหรือสังคม และการสูบคนเดียว การใช้ฝิ่นนี้ในประเทศอินเดียมีรายงานว่า ชาวบ้านใช้ละลายน้ำให้เด็กเล็กๆ  กิน เพื่อให้นอนและไม่กวนระหว่างพ่อแม่ทำงาน
          ในการที่แพทย์ใช้ยาที่เข้าฝิ่น  หรือยามอร์ฟีนในการรักษาโรคนั้น หากใช้เป็นระยะสั้นในผู้ป่วยที่มีอาการเฉียบพลันแล้วหยุดยาในเวลาไม่นาน  ก็ไม่เกิดผลเสียให้ติดยาขึ้น แต่ถ้าใช้ซ้ำๆ หลายครั้งในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง ก็อาจทำให้ติดยาได้
          สำหรับเยาวชนที่หันไปใช้ยาเสพติดนั้น  มีสภาพจิตแตกต่างกันได้หลายแบบ ผู้ที่ติดยาบางคนเป็นโรคจิตหรือโรคประสาท และใช้ยาเสพติดเพื่อระงับอาการของโรค บางคนเป็นเด็กเกเรอยู่เดิม  ชอบเล่นการพนัน ชอบรังแก หรือแกล้งผู้อื่นและชอบหนีโรงเรียนการติดยาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเด็กเกเรเท่านั้น ผู้ติดยาบางคนมีสภาพจิตปกติ แต่มีบุคลิกภาพอ่อนแอ ไม่เป็นตัวของตัวเอง ชอบอิงหรือพึ่งผู้อื่น  เมื่อคบเพื่อนที่ชักจูงไปใช้ยาก็ไม่มีกำลังใจพอที่จะหักห้ามได้ ยิ่งบางคนที่ขาดความรู้ และมีทัศนคติและค่านิยมที่ผิดไปจากปกติแล้ว ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดปัญหาติดยาเสพติดได้มาก คนบางคนชอบโลดโผนหรือชอบเสี่ยงอันตราย ยิ่งทราบว่ายาเสพติดเป็นสิ่งต้องห้ามและอาจมีอันตรายยิ่งอยากลองบางคนมีความพอใจในการที่สามารถกระทำในสิ่งที่ผิดแล้วไม่ถูกจับ หรือเสี่ยงแล้วรอดพ้นได้ บางคนที่มีปมด้อยหรือมีความพอใจที่จะโอ้อวด  ก็อาจใช้ยาเสพติดเป็นทางแสดงออกถึงความกล้า  การที่เด็กถูกห้ามกระทำในบางสิ่งบางอย่างที่ผู้ใหญ่ทำได้  เช่น  การสูบบุหรี่และดื่มเหล้า เป็นต้น  ก็เป็นเหตุให้เด็กบางคนที่ต้องการแสดงตัวและแสดงความเป็นผู้ใหญ่ หันไปกระทำในสิ่งเหล่านั้นบางคนก็ใช้ยาเสพติดเพื่อประชดผู้ใหญ่ การขาดแนวความคิด ความไม่แน่ใจตนเอง การขาดระเบียบวินัยการขาดความหวังสำหรับอนาคต  ตลอดจนการขาดความระลึกชั่วดี  ทำให้เยาวชนบางคนหลงทางและไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้ และหันไปหายาเสพติด
          บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะใช้  หรือติดยาเสพติดหรือไม่ ย่อมขึ้นกับความสามารถทางจิตใจของบุคคลผู้นั้น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นภูมิคุ้มกัน

          สภาวะที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อยาเสพติดเท่าที่พอประมวลได้ ได้แก่
          ๑. บุคลิกภาพ  เด็กบางคนมีบุคลิกและจิตผิดปกติ เช่น ปัญญาอ่อน หรือ บุคลิกภาพต่อต้านสังคม เป็นต้น เด็กพวกนี้จะเป็นเด็กที่มีปัญหามาก่อนการเกิดปัญหาการติดยา ในการศึกษาปัญหายาเสพติดในโรงเรียน คณะวิจัยจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า  เด็กที่ใช้กัญชาและฝิ่นมีอัตราการเคยมีปัญหาเล่นการพนันด้วยเงินจำนวนมาก และอัตราการจำนำของสูงกว่าในเด็กนักเรียนที่ไม่ใช้ยามาก อุปนิสัยที่ไม่ดีเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นมาก่อนการใช้และติดยาเสพติด แสดงว่าเด็กที่มีบุคลิกภาพหรือสภาพจิตผิดปกติมีแนวโน้มที่จะหันไปใช้ยาเสพติด ซึ่งอาจเนื่องจากการขาดการยับยั้งชั่งใจ  หรือจากการที่ยาเสพติดช่วยลดความตึงเครียดของจิต เด็กที่เป็นโรคประสาทก็อาจหาทางออกด้วยการใช้ยาเสพติด
          บุคลิกภาพที่เกิดจากการที่พ่อแม่ปกป้องมากเกินไป จนเด็กไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเอง และพึ่งตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่นอยู่เสมอเมื่อพบเพื่อนที่มีบุคลิกภาพเข้มแข็งกว่า ชักจูงไปใช้ยาเด็กเหล่านี้ก็ไม่สามารถจะหักห้ามใจได้ จึงใช้และติดยาไปก็ไม่น้อย
          ๒. ความรู้ ความรู้ที่ถูกต้องย่อมมีส่วนเป็นเครื่องคุ้มกันไม่ให้เด็กไปใช้ยาเสพติด และไม่ให้ถูกหลอกให้กระทำผิดได้ การกล่าวถึงโทษของยาเสพติดเกินความจริงและสร้างความกลัวเกินกว่าเหตุ  อาจให้ผลในทางตรงข้าม เพราะเด็กอาจได้รับความรู้อีกด้านหนึ่งจากเพื่อนที่อาจเป็นผู้มีประสบการณ์การใช้ยา และมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า ความรู้ที่ได้รับไว้เดิมนั้นไม่ถูกต้องและไม่น่าเชื่อถือ ทำให้เด็กขาดหลักที่ยึดเหนี่ยว
          อีกประการหนึ่ง เด็กบางคนใช้ยาเสพติดเพราะต้องการกระทำในสิ่งที่เป็นการผจญภัยและโลดโผนการกล่าวถึงโทษของยาเสพติดยิ่งมาก เด็กก็อาจรู้สึกยิ่งโลดโผนและน่าลองมากขึ้น
          ความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น
          ๓. ทัศนคติและค่านิยม  ทัศนคติที่ดีต่อชีวิตการรู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี การมีระเบียบวินัย  การยับยั้งชั่งใจ  ความยั้งคิด  ย่อมเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่จะป้องกันไม่ให้เด็กทำตัวเข้าสู่ปัญหายาเสพติด
          ภูมิคุ้มกันที่กล่าวมานี้  เกิดขึ้นจากการอบรมสั่งสอน และประสบการณ์ในชีวิตของเยาวชนตั้งแต่เล็กจนโตขึ้น จึงเห็นได้ว่าปัญหายาเสพติดส่วนหนึ่งเกิดจากความบกพร่องในการเลี้ยงดู อบรมบ่มนิสัยเด็กในระยะแรกๆ
[กลับหัวข้อหลัก]

หมู่บ้านชาวไทยภูเขาที่บ้านคุ้ม บนดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่

[ดูภาพทั้งหมดในเรื่องนี้]
สภาพแวดล้อม 
          สภาพแวดล้อม  มีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวยา และจิตใจของบุคคลในการที่ทำให้เกิดปัญหายาเสพติดขึ้น  พอจะกล่าวถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นสาเหตุของปัญหายาเสพติดได้ดังนี้

          ๑. เพื่อน

          ผู้ที่ใช้และติดยาเสพติด  ส่วนใหญ่รู้จักยาจากเพื่อน  ได้รับยาครั้งแรกจากเพื่อน ใช้ยาครั้งแรกที่บ้าน เพื่อน  และเป็นผู้ที่มักจะหันไปปรึกษาเพื่อนเมื่อมีปัญหาเพื่อนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการชักนำผู้หนึ่งผู้ใดไปใช้ยาเสพติด การเลือกคบหรือเข้ากลุ่มกับเพื่อนที่เป็นผู้ใช้ยาเสพติด การเลือกคบหรือเข้ากลุ่มกับเพื่อนที่เป็นผู้ใช้หรือติดยาเสพติด ย่อมเป็นทางนำให้บุคคลที่มีบุคลิกภาพอ่อนแอหรือขาดภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว หันไปใช้และติดยาได้

          ๒. สภาพสังคมที่เป็นสื่อชักนำให้ใช้ยาเสพติด

          การที่เยาวชนมีเวลาว่าง และไม่มีสิ่งใดที่เพลิดเพลินและพอใจให้ทำในเวลาว่าง ทำให้เยาวชนไปมั่วสุมกันในที่ต่างๆ เป็นก๊วน หรือแก๊งขึ้น และชักจูงกันไปทำสิ่งต่างๆ ถ้ามีเพื่อนที่ไม่ดีอยู่ร่วมในกลุ่ม ก็อาจชักนำไปในทางอบายมุกต่างๆ เช่น การพนัน การมั่วสุมทางเพศ ตลอดจนการใช้บุหรี่ เหล้า และยาเสพติดต่างๆ
          ผู้ที่เคยใช้หรือติดยาเสพติด เป็นผู้ที่รู้แหล่งที่อาจหายาเสพติดได้ ย่อมชักนำเพื่อนไปใช้ยาเสพติดได้บางคนอาจชักนำไปเพื่อตนเองได้มีส่วนได้รับยาเสพติดด้วย

          ๓. การมียาหาได้ง่าย

          ในสังคมที่ยาเสพติดหาได้ง่าย โอกาสที่จะหันไปใช้และติดยาก็มีมากขึ้น ยาบางอย่างเป็นยาที่ใช้ในทางการแพทย์อยู่ และมีการผลิตจากโรงงานเภสัชกรรมหรือนำเข้ามาในประเทศเพื่อเป็นยารักษาโรค แล้วมีขายอยู่ตามร้านขายยาทั่วไป อาจมีผู้นำไปใช้เป็นยาเสพติดได้ มาตรการในการควบคุมยารักษาโรคที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและยาเสพติด จึงมีความสำคัญในการป้องกันปัญหายาเสพติด
          ยาบางอย่างที่มีโทษร้ายแรง  และมีกฎหมายห้ามการผลิต หรือการค้า หากมีความต้องการอยู่ ราคาก็ย่อมสูง และผู้ที่ลักลอบผลิตหรือสินค้าก็ได้กำไรสูง ทำให้มีผู้ที่ประกอบอาชญากรรด้านการผลิตหรือค้ายาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของการรักษากฎหมายและผู้รักษากฎหมายด้วย ในสภาพแวดล้อมบางแห่งมีการลักลอบค้ายาเสพติดกันมาก ยานั้นก็หาได้ง่าย มีผลให้เกิดปัญหายาเสพติดรุนแรงและกว้างขวางขึ้น

          ๔. สภาพแวดล้อมที่มีความกดดันต่อจิตใจ

          ความกดดันต่อจิตใจจากสภาพแวดล้อม จะเป็นแรงดันให้เยาวชนหันไปใช้ยาเสพติดเป็นทางออกหรือทางหนี สภาพในครอบครัวย่อมเป็นเหตุของความกดดันของเด็กได้ เช่น เด็กที่ไม่มีความสุขที่บ้าน พ่อแม่แตกแยกกัน พ่อหรือแม่เป็นผู้มีบุคลิกภาพหรืออุปนิสัยไม่ดี ติดสุราหรือยาเสพติด เด็กที่ขาดความรัก เป็นต้น
          ความกดดันทางเศรษฐกิจ  สังคม  ก็เป็นปัญหาสำคัญ ชุมชนที่เศรษฐกิจไม่ดีมีความยากจนมาก มีผู้ที่ติดยาเสพติดมาก ผู้ที่ติดยาในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในบริเวณชุมชนแออัด หรือบริเวณใกล้เคียงความลำบากในการดำรงชีพ และการขาดความหวังสำหรับอนาคต อาจผลักดันให้คนบางคนหันไปใช้ยาเสพติด

          ๕. สภาพแวดล้อมขาดการชักจูงไปในทางที่ดี

          ในสภาพสังคมที่เสื่อม มีประชากรมาก แต่มีเครื่องอุปโภคบริโภค และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ขาดแคลน  ต้องแย่งกันใช้ ผู้คนต้องวุ่นวายอยู่กับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขาดการดำเนินงานในระยะยาว ความหวังสำหรับอนาคตรางเลือนไป เยาวชนก็ขาดการแนะนำชักจูงไปในทางที่ดีในทางที่เสริมสร้างกิจกรรมด้านเสริมสร้างมีน้อย เยาวชนจึงหันไปใช้เวลาว่างไปในทางเสื่อม ตลอดจนไปใช้ยาเสพติด 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More